คำถามที่พบบ่อย

การบินไทยมีแนวทางในการดำเนินการกับลูกค้าหรือสมาชิก Royal Orchid Plus หรือ ROP อย่างไร

การบินไทยตระหนักถึงความสำคัญของท่านลูกค้า และท่านสมาชิก ROP และตั้งใจที่จะให้ลูกค้าสามารถใช้ไมล์สะสมได้ต่อไปตามปกติ แต่เนื่องจากติดข้อจำกัดทางกฎหมาย ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2563 เป็นต้นมา บริษัทฯ จึงต้องระงับการใช้สิทธิบางประการไว้ชั่วคราว เช่น รางวัลบัตรโดยสารและรางวัลอัพเกรดชั้นโดยสารของสายการบินพันธมิตร Star Alliance และรางวัลบัตรกำนัลห้องพักโรงแรม เป็นต้น อย่างไรก็ดี  บริษัทฯ ยังคงเปิดให้สมาชิกสามารถใช้ไมล์สะสมแลกเป็นรางวัลบัตรโดยสารและอัพเกรดชั้นโดยสารของการบินไทย และรางวัลบัตรโดยสารสายการบินไทยสมายล์ได้ เมื่อการบินไทยและไทยสมายล์กลับมาให้บริการตามปกติ ในกรณีที่สมาชิก Royal Orchid Plus ที่แลกรางวัลบัตรกำนัลห้องพักโรงแรม รางวัลไลฟ์สไตล์บางประเภท รวมถึงรางวัลบัตรโดยสารและรางวัลอัพเกรดชั้นโดยสารของสายการบินพันธมิตร Star Alliance และยังไม่ได้ใช้บริการดังกล่าว ท่านสามารถขอคืนรางวัลเพื่อรับคืนไมล์สะสมได้ โดยได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการคืนรางวัลดังกล่าว และหากมีไมล์ในส่วนที่เป็นไมล์หมดอายุจะได้รับการต่ออายุไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 อย่างไรก็ดี การขอคืนค่าภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ ของรางวัลบัตรโดยสารและรางวัลอัพเกรดชั้นโดยสารของสายการบินพันธมิตร Star Alliance นั้น ทางบริษัทฯ ยังไม่สามารถชำระคืนเงินดังกล่าวได้ในขณะนี้เนื่องจากติดข้อบังคับทางกฎหมาย ซึ่งบริษัทฯ กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาดำเนินการเพื่อแก้ไขหรือบรรเทาข้อจำกัดดังกล่าวโดยเร่งด่วน

อยากทราบรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอน และ กระบวนการในการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย

กระบวนการในการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วงใหญ่ๆ คือ

ในช่วงแรก นับตั้งแต่วันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมา หรือวันที่บริษัทฯ ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ไปจนถึงวันที่ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 17 ส.ค. 2563 ในช่วงนี้ การบินไทยจะอยู่ภายใต้สภาวะบังคับชั่วคราว หรือ automatic stay เหตุที่ผมใช้คำว่า “สภาวะบังคับชั่วคราว” โดยไม่ได้ใช้คำว่า “สภาวะพักการชำระหนี้” เนื่องจาก ผลของ automatic stay นอกจากจะทำให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องบังคับคดีกับทรัพย์สินของการบินไทยไม่ได้แล้ว การบินไทยก็ถูกห้ามไม่ให้ก่อหนี้หรือชำระหนี้ เว้นแต่หนี้ที่จำเป็นเพื่อให้การดำเนินการในทางการค้าปกติของการบินไทยดำเนินต่อไปได้ ซึ่งมีผลบังคับไปตลอดจนกว่าคดีฟื้นฟูกิจการจะเสร็จสิ้น ในการไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยศาลล้มละลายกลาง โดยหลักการแล้วจะมีการไต่สวนใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) สถานะทรัพย์สิน หนี้สิน และความสามารถในการชำระหนี้ (2) มีเหตุสมควรให้ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการของการบินไทยหรือไม่ (3) บุคคลที่การบินไทยเสนอสมควรเป็นผู้ทำแผนหรือไม่ หากศาลไต่สวนได้ความจริงตามองค์ประกอบดังกล่าว ศาลก็จะมีคำสั่งให้ การบินไทยฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนตามที่เสนอ ซึ่งก็จะเข้าสู่ช่วงที่สองของกระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อไป

ช่วงที่สอง หรือช่วงตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผน ไปจนกระทั่งถึงช่วงที่มีการจัดทำแผนแล้วเสร็จและศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน โดยในช่วงนี้จะใช้เวลาตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปจนถึงหนึ่งปี หรืออาจเร็วกว่านั้น ซึ่งจะขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญต่าง ๆ ซึ่งรวมถึง การได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากเจ้าหนี้ของการบินไทย ในการให้ความเห็นชอบหรือไม่มีการคัดค้านผู้ทำแผนที่บริษัทฯ เสนอ รวมถึงการพิจารณาเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการที่จะถูกจัดทำขึ้นโดยผู้ทำแผนดังกล่าว

ช่วงสุดท้าย เป็นเรื่องการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ทั้งลูกหนี้และศาลล้มละลายกลางเห็นชอบด้วยแผนแล้ว โดยผู้ที่มีหน้าที่ดำเนินการในส่วนนี้ คือผู้บริหารแผนที่ศาลตั้ง ซึ่งมีกรอบระยะเวลาในการดำเนินการตามแผนให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี โดยขอขยายเวลาได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี สรุปโดยรวมคือไม่เกิน 7 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลฯ เห็นชอบด้วยแผน การฟื้นฟูกิจการจะแล้วเสร็จเมื่อมีการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการแล้วเสร็จ ตามแนวทางการฟื้นฟูกิจการต่าง ๆ เช่น การแปลงหนี้เป็นทุน การชำระหนี้บางส่วน หรือการลด/เพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ เป็นต้น

การแยกประเภทเจ้าหนี้ใช้เวลาเท่าไหร่ จะมีการแจ้งเจ้าหนี้หรือไม่ และความร่วมมือของเจ้าหนี้มีความสำคัญอย่างไร

การจัดประเภทเจ้าหนี้จะอยู่ในช่วงที่สอง ของคำตอบที่ 2 โดยการจัดประเภทเจ้าหนี้นี้ จะเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ทำแผนที่ศาลจะแต่งตั้ง ซึ่งตามกฎหมายผู้ทำแผนจะต้องทำแผนให้แล้วเสร็จเพื่อเสนอที่ประชุมเจ้าหนี้ภายใน 3 เดือน นับจากวันที่ประกาศคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำแผน โดยขอขยายได้ไม่เกิน 2 ครั้งๆ ละ 1 เดือน ดังนั้น ภายใน 5 เดือน เจ้าหนี้ก็จะได้เห็นแผนฟื้นฟูกิจการและการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ และ ความร่วมมือของเจ้าหนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเจ้าหนี้ต้องเป็นคนลงมติว่าจะยอมรับแผนหรือไม่

ปัจจุบันการบินไทยมีเงินสดและสภาพคล่องเพียงพอที่จะรองรับการหยุดบริการได้ในระยะเวลานานเท่าใด และมีวิธีการบริหารต้นทุนอย่างไรบ้าง

ในระยะสั้น การบินไทยติดตามและประเมินสถานการณ์ความรุนแรงของการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างต่อเนื่อง และประเมินความพร้อมในการกลับมาเปิดให้บริการในเส้นทางการบินต่าง ๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งระยะเวลาในการกลับมาเริ่มบินจะขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัยที่การบินไทยจะนำมาวิเคราะห์ ซึ่งรวมถึงอุปสงค์ของการเดินทางทางอากาศ และข้อกำหนดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการบินไทยจะต้องนำมาพิจารณา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้โดยสาร และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ซึ่งในระหว่างนี้ การบินไทยก็มีการปรับลดค่าใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นและบริหารกระแสเงินสดอย่างเต็มที่ เพื่อรักษาสภาพคล่องไว้ให้ได้มากที่สุด

ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการนี้ การบินไทยจะได้รับเงินจากกระทรวงคลังหรือไม่ จะสามารถหาแหล่งเงินทุนได้หรือไม่ พันธมิตรทางธุรกิจที่การบินไทยจะจัดหามาร่วมทุน มีใครบ้าง

การบินไทยไม่ได้อยู่ในสถานะรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลังจึงไม่สามารถให้การสนับสนุนความช่วยเหลือทางการเงินหรือค้ำประกันเงินกู้ให้กับการบินไทยได้โดยตรง แต่ในระหว่างนี้การบินไทยยังสามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากศาลล้มละลายกลางก่อน แต่เจ้าหนี้ดังกล่าวจะไม่มีบุริมสิทธิในการขอรับชำระหนี้หรือไม่มีสิทธิเหนือเจ้าหนี้รายอื่นในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ

ทั้งนี้ การจัดหาแหล่งเงินทุนในอนาคตขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูซึ่งวิธีขนาดความต้องการเงินทุน วิธีการจัดหาแหล่งเงินทุน รวมถึงการสรรหาพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเข้าร่วมทุน จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ทำแผนต่อไป โดยพันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมทุนทางธุรกิจจะต้องก่อให้เกิด Synergy กับธุรกิจของการบินไทยและธุรกิจที่เกี่ยวข้องและก่อให้เกิดผลประโยชน์กับการบินไทยมากที่สุด

กรณีต้องการขอคืนเงินจากบัตรโดยสารที่ซื้อไปแล้ว การบินไทยมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไร จะคืนให้เท่าจำนวนเงินที่ซื้อหรือไม่

การเลือกใช้สิทธิ refund ตั๋วโดยสารหรือเลื่อนตั๋วเดินทาง เป็นสิทธิของลูกค้าตามเงื่อนไขการออกบัตรโดยสาร บริษัทฯ จึงไม่มีนโยบายระงับสิทธิลูกค้าในการยื่นเรื่องขอ refund ตั๋วโดยสาร โดยบริษัทฯ ยังเปิดรับเรื่องลูกค้า refund ตั๋วโดยสารอยู่ แต่การจ่ายเงินคืนให้กับลูกค้าในขณะนี้ ยังกระทำไม่ได้ เพราะติดขัดข้อจำกัดทางกฎหมาย ซึ่งบริษัทฯ ต้องกราบขออภัยเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีความตั้งใจที่จะดูแลลูกค้าที่ขอคืนบัตรโดยสารอย่างดีที่สุดภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยจะแจ้งสิทธิของท่านผ่านช่องทางต่างๆ ต่อไป บริษัทฯ ยังไม่สามารถประกาศนโยบายที่ชัดเจนได้ในขณะนี้เพราะแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ จะจัดทำขึ้นโดยผู้ทำแผนที่ได้รับการแต่งตั้งจากศาล บริษัทฯ จึงไม่ใช่ผู้ทำแผน การประกาศนโยบายใด ๆ จึงต้องมีความระมัดระวังให้อยู่ในกรอบอำนาจของบริษัทฯ

เครื่องบินของการบินไทยจะถูกยึดหรือไม่ ทำไมจึงไม่มีการยื่น Chapter 11 ต่อศาลที่สหรัฐอเมริกาเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองไปทั่วโลก

ในปัจจุบัน ที่ปรึกษากฎหมายได้ดำเนินการเจรจากับเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าเครื่องบินเพื่อให้เจ้าหนี้ยอมผ่อนผันการชำระหนี้ อันจะทำให้การบินไทย มีเครื่องบินที่สามารถนำมาใช้งานได้โดยไม่ถูกยึด และในขณะเดียวกันก็ได้ดำเนินการขอให้ศาลในต่างประเทศ “ให้รับรองการฟื้นฟูกิจการและผลของการมีสภาพบังคับ (Recognition of the Company’s Business Reorganization Proceedings in Thailand)” เพื่อคุ้มครองป้องกันทรัพย์สินของการบินไทยในประเทศต่าง ๆ คู่ขนานกันไป โดยปัจจุบันยังไม่เครื่องบินของการบินไทยลำใดถูกยึด

ในเรื่องการยื่น Chapter 11 ต่อศาลในสหรัฐอเมริกานั้น ในขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็น เพราะการเจรจากับหนี้ต่างประเทศของการบินไทยในช่วงที่ผ่านมาเป็นไปได้ด้วยดี อย่างไรก็ดี ทางทีมที่ปรึกษากฎหมายก็ยังไม่ได้ตัดทางเลือกในการยื่น chapter 11 นี้แต่อย่างใด

มีเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าเครื่อบินรายใดยกเลิกสัญญาหรือไม่

ในปัจจุบัน ยังไม่มีเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าเครื่องบิน หรือ lessor รายใดยกเลิกสัญญา แต่โดยทางปฏิบัติแล้ว เมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้/เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ก็จะต้องมี การส่ง Notice หรือหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้มาตามขั้นตอนของกฎหมายเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ณ ขณะนี้ ยังไม่มีเจ้าหนี้รายใดเลิกสัญญาเช่าเครื่องบินของการบินไทย

จะเกิดการลดโครงสร้างองค์กรหรือไม่ ถ้าใช่ ขอทราบรายละเอียดมีการยุบหน่วยงานใดบ้าง ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือปรับขนาดบางหน่วยที่มีจํานวนพนักงานมากเกินปริมาณงาน หรือมีหน่วยงานที่ทํางานซํ้าซ้อนกันอยู่ จะมีการปรับ รวมกันหรือไม่

การปรับโครงสร้างองค์กรขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูซึ่งจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ทำแผนต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างองค์กร ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์และปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรม แผนฝูงบินในอนาคต เพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์กับผู้โดยสารและการบินไทยมากที่สุด

เรื่องการซื้อเครื่องบินเพิ่ม ทำไมต้องซื้อ เอาเงินจากที่ไหนมาซื้อ
  • เหตุผลที่ต้องซื้อ อายุเฉลี่ยของฝูงบิน ปี 2561-2570 เกิน 20 ปี และประสบกับปัญหาเครื่องยนต์ที่ทางผู้ผลิตไม่สามารถซ่อมได้ตามกำหนดเวลา ทำให้เครื่องบินไม่เพียงพอในการให้บริการ ส่งผลให้กำลังการผลิตลดลง โอกาสในการทำรายได้ลดลง ประกอบกับภาพรวมอุตสาหกรรมการบิน และความต้องการการเดินทางยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ถ้าไม่ทำอะไร เราจะสูญเสียตลาดไปในที่สุด การจัดหาในครั้งนี้เพื่อทดแทน จำนวน 31 ลำ และขยายกำลังการผลิต จำนวน 7 ลำ
  • เอาเงินจากไหนมาซื้อ --> ผลประกอบการของบริษัทฯ (กรณีมีกำไร), เงินกู้, เงินทุนจากการเพิ่มทุนของผู้ถือหุ้นเก่าและผู้ถือหุ้นใหม่
  • การจัดหาเงินทุนนั้น ทางการบินไทยดำเนินการเอง โดยไม่ได้ใช้เงินภาษี
อะไรคือปัญหาของการซ่อมบำรุง ค่าซ่อมบำรุงสูง

บกท. ยังคงมีเครื่องบินรุ่นเก่าที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 15 ปี เช่น Boeing 747-400 จำนวน 10 ลำ, 777-200 จำนวน 6 ลำ, 777-300 จำนวน 6 ลำ เป็นเครื่องบินที่มีอัตราการใช้น้ำมันสูงและมีค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงสูง บกท. มีเครื่องบินและเครื่องยนต์หลากหลายแบบ รวมถึงการมีเครื่องบินขนาดใหญ่จำนวน 83 ลำ ซึ่งต้องนำมาทำการบินในเส้นทางบินระยะสั้นทั้งหมด จึงทำให้ค่าซ่อมบำรุงยังอยู่ในเกณฑ์สูง

ความเชื่อมโยงของการบินไทย และไทยสมายล์ คืออะไร ทำไปใครได้ประโยชน์

การบินไทยถือหุ้นไทยสมายล์ 100% ดังนั้นผลประกอบการจึงต้องรายงานแบบงบรวม เมื่อใครขาดทุน ก็จะกระทบกับอีกบริษัทหนึ่งแน่นอน ดังนั้นเมื่อร่วมมือกันทำให้ผลประกอบการดีทั้งคู่ จะได้ประโยชน์ทั้งคู่

การบินไทยใช้ไทยสมายล์เป็นยุทธศาสตร์ในการต่อสู้และจับกลุ่มผู้โดยสารที่บินระยะทางที่ไม่ไกลมากนัก และปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานภายในอย่างชัดเจน เป็นการบริหารงาน ที่ integrate การทำงานของทั้งการบินไทยและไทยสมายล์เข้าด้วยกัน ซึ่งจะเกิดผลที่ดีต่อทั้งบริษัทและผู้โดยสาร การบริหารเส้นทางบินและการเชื่อมต่อจุดบินอย่างเป็นระบบ สะดวกสบายสำหรับผู้โดยสาร และมีความพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อย่างรวดเร็ว

ความคืบหน้าของโครงการ มนตรา

มนตรา เป็นโครงการที่จะฟื้นฟูแบบเร่งด่วน ปี 2562-2563 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การบินไทยหลุดพ้นจากกับดัก ซึ่งโครงการที่อยู่ภายใต้โครงการมนตรานั้น ยังดำเนินการตามแผนและผลลัพธ์แสดงผลใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ ไม่ว่าจะเป็น โครงการการจัดหาเครื่องบิน การควบคุมค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงตามสัญญา การเพิ่มรายได้โดยใช้ Digital Marketing เป็นต้น แต่ในส่วนที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายคือโครงการทางด้านรายได้จากการขนส่ง

การจัดหาเครื่องบินในครั้งนี้โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้หรือไม่

คณะกรรมการบริษัทฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ และคณะทำงานชุดต่างๆ เพื่อดำเนินการในการจัดหาเครื่องบิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ โดยแต่ละคณะฯ จะมีหน้าที่ ความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน และจะได้เชิญตัวแทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เข้าร่วมสังเกตการณ์ ในขั้นตอนต่อไปของการจัดหาเครื่องบินอีกด้วย

ทำไมการบินไทยขาดทุน

สาเหตุสำคัญเนื่องจากปริมาณการผลิตลดลง รวมทั้งผลกระทบจากการปิดน่านฟ้าของสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน การลดลงของปริมาณนักท่องเที่ยวที่เป็นผลจากการแข่งขันที่รุนแรงด้านราคาจากสงครามทางเศรษฐกิจและการค้า ปัจจัยค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน และความล่าช้าของการซ่อมเครื่องยนต์ของทางผู้ผลิต

เมื่อพิจารณา การขาดทุนของการบินไทยเป็นกับดักวงจรอุบาทว์ คุณภาพของผลิตภัณฑ์บนเครื่องรุ่นเก่าที่เป็นรอง เมื่อเทียบกับคู่แข่ง -> ทำให้เกิดปัญหาด้านการบริการไม่ consistency ลูกค้าไม่พึงพอใจ-> ส่งผลถึงผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้า

Digital Marketing ทำอะไรบ้าง

ในส่วนของ Mobile Application สามารถเพิ่มรายได้ โดยการนำเสนอสิทธิพิเศษ สิทธิประโยชน์ ให้กับผู้โดยสารของการบินไทยมากขึ้น โดยการเสนอการขายผลิตภัณฑ์เสริม (Ancillary Product) อาทิ น้ำหนักสัมภาระกระเป๋า ประกันภัยการเดินทาง รถรับส่งสนามบิน รถเช่า โรงแรม เป็นต้น รวมทั้งเพิ่มภาษาต่างๆ และปรับเปลี่ยนหน้า Mobile Application ให้เข้าถึงผู้โดยสารในกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น

คณะกรรมการบริษัทฯ และครอบครัวได้สิทธิ์บัตรโดยสารฟรีหรือไม่

คณะกรรมการบริษัทฯ และครอบครัว ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ใดๆ ทั้งนี้เป็นไปตามมติคณะกรรมการบริษัทฯ และผลการประชุมจากคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ในปี 2557 ให้ยกเลิกสิทธิประโยชน์ในรูปแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการของรัฐวิสาหกิจและสิทธิประโยชน์พิเศษต่างๆ ของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ

คณะกรรมการบริษัทฯ ได้รับเงินเดือนหรือไม่ และได้เบี้ยประชุมอย่างไร เท่าไหร่

เป็นไปตาม มติ ครม. วันที่ 2 กรกฏาคม 2556 เรื่องอัตราค่าตอบแทนและเบี้ยประชุมกรรมการรัฐวิสาหกิจ และมติของผู้ถือหุ้น บริษัท การบินไทย จำกัด