จรรยาบรรณสำหรับนักลงทุนสัมพันธ์

วัตถุประสงค์

จุดประสงค์ของจรรยาบรรณนี้เพื่อส่งเสริมหลักการด้านจริยธรรมและการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์สำหรับผู้บริหาร และพนักงานทุกคนที่เกี่ยวข้องกับงานนักลงทุนสัมพันธ์ในด้านการเปิดเผยและการรักษาความลับของงบการเงิน และข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง

ขอบเขต

จรรยาบรรณฉบับนี้เป็นส่วนเพิ่มเติม โดยมิได้ใช้ทดแทนจรรยาบรรณของพนักงานบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) และนโยบายการเปิดเผยข้อมูล และความโปร่งใส (ซึ่งทั้ง 2 หัวข้อได้แสดงไว้ภายใต้ นโยบายการกำกับดูแลกิจการบนเว็บไซต์) จรรยาบรรณฉบับนี้ใช้สำหรับคณะกรรมการบริหารทุกท่าน และผู้บริหารท่านอื่นๆ และพนักงานบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลของนักลงทุนสัมพันธ์ และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง

จรรยาบรรณ

ผู้บริหารและพนักงานทุกท่านที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลของนักลงทุนสัมพันธ์ต้องปฏิบัติดังนี้

  • มีส่วนร่วมและส่งเสริมการประพฤติปฏิบัติที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงการจัดการอย่างเหมาะสมสำหรับความขัดแย้งทางผลประโยชน์ส่วนบุคคล และตามหน้าที่งาน และเปิดเผยต่อประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ/หรือผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานกำกับและตรวจสอบสำหรับรายการและความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญที่อาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์โดยเร็ว
  • ปฏิบัติหน้าที่ที่รับผิดชอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริตในวิชาชีพ บนพื้นฐานของหลักการของความเท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติบนอามิสสินจ้างใดๆ ที่เป็นเหตุจูงใจส่วนบุคคลและเอื้อประโยชน์ส่วนตนมากกว่าผลประโยชน์ของบริษัทและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักลงทุนสัมพันธ์พึงปฏิบัติตามนโยบายและจรรยาบรรณพนักงานต่างๆ ที่บริษัทจดทะเบียนได้กำหนดไว้
  • ต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้อง เท่าเทียมและเป็นธรรม โดยเปิดโอกาสให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงและสอบถามข้อมูลได้
  • ต้องเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นต่อการตัดสินใจ อย่างถูกต้อง เพียงพอ และทันเวลา เช่น การเปิดเผยรายงานหรือเอกสารที่ธนาคารและบริษัทในเครือจัดส่งให้สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือหน่วยงานทางการอื่นๆ หรือการสื่อสารโดยทั่วไปที่ดำเนินการโดยบริษัทฯ เป็นต้น
  • ปฏิบัติตามกฎหมายของราชการ หน่วยงานทางการต่างๆ กฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ
  • รักษาความลับของบริษัทและต้องไม่ใช้ข้อมูลภายในเพื่อประโยชน์ส่วนตนและผู้อื่น
  • รายงานทันที (โดยไม่เปิดเผยชื่อหากประสงค์เช่นนั้น) ต่อประธานกรรมการตรวจสอบสำหรับการฝ่าฝืนจรรยาบรรณ หรือเรื่องที่อาจจะส่งผลต่อความถูกต้องของงบการเงินบริษัทฯ
  • ในกรณีการเปิดเผยข้อมูลแก่นักวิเคราะห์ หากเป็น
    1. ในกรณีการเปิดเผยข้อมูลเชิงนโยบาย และเข้าข่าย คำนิยายของ “ข้อมูลภายใน” และเป็นไปตามแนวทางการเปิดเผยข้อมูลภายในตาม หนังสือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ กลต. พษ(ว) 5/2561 ให้การให้ข้อมูลภายในที่มีนัยสำคัญสำคัญเป็นอำนาจของประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี
    2. ในกรณีที่เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งมีที่มาชัดเจน ข้อมูลที่มีการเปิดเผยในการเปิดเผยข้อมูลผ่านตลาดหลักทรัพย์และ/หรือการเปิดเผยผ่านเว็บไซด์ตนเอง เป็นอำนาจของ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินองค์กร และหัวหน้ากลุ่มงานนักลงทุนสัมพันธ์
    3. ในกรณีการเปิดเผยข้อมูลในการลงทุนที่สำคัญ แต่อาจมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์ของบริษัทฯ นั้นให้เป็นอำนาจของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เลขาบริษัทฯ และหัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรและ/หรือ มอบหมายให้ผู้รับมอบอำนาจในการเปิดเผยข้อมูลเป็นคราวๆ ไป โดยมีหนังสือสั่งการเป็นลายลักษณ์อักษร
  • ไม่ให้พนักงานในกลุ่มงานนักลงทุนสัมพันธ์ และ/หรือพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำข้อมูลทางการเงินและการบัญชี และ/หรือ พนักงานอื่นรวมทั้งคณะกรรมการบริษัทฯ ซื้อ/ขายหุ้นของบริษัท 45 วันในกรณีปิดบัญชีในไตรมาส 1,2, และ 3 หรือ 60 วันในกรณีปิดบัญชีสิ้นปี (ปฎิทิน) ก่อนวันประกาศผลประกอบการ จนถึง 3 วัน (ปฎิทิน) หลังวันประกาศผลประกอบการ
  • หมั่นศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการทํางาน

การกำกับและตรวจสอบ

บริษัทฯ จะดำเนินการที่จำเป็นเพื่อบังคับใช้จรรยาบรรณนี้ ทั้งนี้ พนักงานที่ฝ่าฝืนจรรยาบรรณนี้ จะถูกพิจารณาลงโทษทางวินัย ซึ่งรวมถึงการไล่ออก การฝ่าฝืนจรรยาบรรณนี้อาจถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย และนำไปสู่การลงโทษทางอาญาและทางแพ่งได้

จรรยาบรรณสำหรับนักลงทุนสัมพันธ์